วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน มีชื่อเดิมว่าโรงเรียนวัดพระเชตุพนตั้งตรงจิตวิทยาลัย สังกัดกองโรงเรียนพาณิชย์และอุตสาหกรรม กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการตั้งขึ้นตามประกาศของ กระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2500 โดยเช่าอาคาร 2 ชั้น 2 แถว อยู่บริเวณสังฆาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ท่าเตียน กรุงเทพมหานคร และนายบัณฑิต บุญยาคม เป็นอาจารย์ใหญ่เปิดสอน 3 แผนก คือ แผนกพณิชยการ แผนกเลขานุการ แผนกภาษาต่างประเทศ

ต่อมาจำนวนนักเรียนที่มาสมัครเรียนเพิ่มขึ้น  จนโรงเรียนไม่สามารถรับได้ทั้งหมดคงรับได้เพียงปีละ 450 คนเนื่องจากสถานที่คับแคบ ไม่สามารถขยายออกไปได้เพราะตั้งอยู่ในเขตวัดขาดโรงอาหาร หอประชุม สนามกีฬาโรงเรียนไม่อาจจัดกิจกรรมที่อำนวยประโยชน์แก่นักเรียนได้เต็มที่ กรมอาชีวศึกษาจึงมีโครงการย้ายโรงเรียนไปตั้งยังสถานที่แห่งใหม่ที่ถนนประชาอุทิศ แขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ของคุณลออ หลิมเซ่งไถ่ มอบให้กรมการศาสนาใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาเนื้อที่ 5 ไร่เศษ และสำนักงบประมาณได้อนุมัติซื้อที่ดินเพิ่มเติมจาก น.พ. ทวี ตุมราศวิน จำนวน 3 ไร่ 1 งาน 8 ตารางวา พร้อมกับให้งบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน 4 ชั้น 2 หลัง โรงอาหารและห้องประชุม เมื่อปีงบประมาณ 2512

                1 ตุลาคม 2513 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศ ให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนวัด พระเชตุพนตั้งตรงจิตวิทยาลัย เป็นโรงเรียนพณิชยการเชตุพน แต่ให้คงอักษรย่อ พ.ต. ไว้ตามเดิม  และได้ย้ายมายังที่แห่งใหม่ ตั้งอยู่เลขที่ 314 ถนนประชาอุทิศ แขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร จนถึงปัจจุบัน

 ปีการศึกษา 2516 โรงเรียนได้เปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ขึ้น อีกระดับหนึ่ง มี 3 สาขา คือ สาขาวิชาการบัญชี สาขาวิชาการเลขานุการ สาขาวิชาการตลาด

               1 ตุลาคม 2516 ได้รับยกฐานะเป็น วิทยาลัย ในปีการศึกษา 2516 วิทยาลัยฯ ได้ขอ อนุมัติเปิดการศึกษาพิเศษ ระดับประโยคครูมัธยม (ป.ม.) ขึ้นอีกระดับหนึ่ง วิทยาลัยฯ ได้ดำเนินงาน ในด้านการศึกษาโดยเปิดสอนสาขาวิชาต่าง ๆ ที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นทั้งด้าน พาณิชยกรรมและบริหารธุรกิจ เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติได้อย่างถูกต้อง และครบถ้วน ผลการสอน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นสูง (ปวส.) เกิดสัมฤทธิ์ผลเป็นไปตามความ ต้องการของกระทรวงศึกษาธิการทุกประการ วิทยาลัยฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมอาชีวศึกษา และอนุมัติใช้เงินบำรุงการศึกษา ปรับปรุงงานต่าง ๆ ในอันที่จะให้การดำเนินการศึกษาเป็นไปอย่างได้ผล และมีประสิทธิภาพที่สุด

               ปัจจุบันวิทยาลัยฯ มีพื้นที่ทั้งหมด 14 ไร่ 2 งาน 59 ตารางวา อาคารเรียน 6 หลัง หอประชุม โรงอาหาร 1 หลัง อาคารเอนกประสงค์ (โรงยิม) 1 หลัง แฟลต 4 ชั้น 1 หลัง (ที่พักอาศัย นักการภารโรง) ข้าราชการครู 98คน ข้าราชการพลเรือน 2คน ครูจ้างสอน 5คน ลูกจ้างประจำ 19คน ลูกจ้างชั่วคราว 36 คน นักเรียน – นักศึกษา 3,578คน