เกี่ยวกับระบบทวิภาคีของการจัดการอาชีวศึกษา

การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

แนวคิด

           สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษามีภารกิจในการดำเนินการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษาตามพระราบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2545 และพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิชาชีพให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ เป็นไปตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ มาตรฐานการศึกษาของชาติ กรอบคุณวุฒิอาชีวศึกษาแห่งชาติ และมาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาแต่ละระดับตลอดจนยึดโยงกับมาตรฐานอาชีพ โดยเน้นการเรียนรู้สู่การปฏิบัติ เพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษาให้มีสมรรถนะด้านวิชาการ และด้านวิชาชีพ รวมทั้งคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพและกิจนิสัยที่เหมาะสมในการทำงานตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ชุมชน สังคม และสามารถประกอบอาชีพอิสระได้ โดยเปิดโอกาสของตน ส่งเสริมให้มีการประสานความร่วมมือเพื่อจัดการศึกษาและพัฒนาหลักสูตรร่วมกันระหว่างสถาบัน สถานศึกษา หน่วยงาน สถานประกอบการ และองค์กรต่าง ๆ ทั้งในระดับชุมชน ระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

           ในการจัดการอาชีวศึกษาให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น จำเป็นต้องใช้หลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นสมรรถนะโดยความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ “การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี” ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบันกับสถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานภาครัฐ ทั้งเรื่องการจัดหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล โดยจัดให้ผู้เรียนใช้เวลาส่วนหนึ่งในสถานศึกษาอาชีวศึกษา หรือสถาบัน และเรียนภาคปฏิบัติในสถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าวมีกรอบและหลักเกณฑ์ในการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง ไสด้แก่ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ พ.ศ. 2562 มาตรฐานการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี พ.ศ. 2563 รวมทั้งเกณฑ์การใช้หลักสูตร และระเบียบการจัดการศึกษาและการประเมินผลการเรียนตามหลักสูตร

เกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาแต่ละระดับ

           เกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาแต่ละระดับนี้ ใช้สำหรับการพัฒนาหลักสูตรแต่ละระดับของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สถาบันการอาชีวศึกษา และสถานศึกษาของรัฐและเอกชน ซึ่งสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ตามเกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ พ.ศ. 2562 และเกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง พ.ศ. 2562 ดังนี้

1. คุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษาแต่ละระดับ ครอบคลุม 4 ด้าน ดังนี้

ระดับการศึกษา คุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษา
ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (1) ด้านคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ได้แก่ มีคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ เจตคติและกิจนิสัยที่ดี ภูมิใจและรักษาเอกลักษณ์ของชาติไทย เคารพกฎหมาย เคารพสิทธิของผู้อื่น มีความรับผิดขอบตามบทบาทหน้าที่ของตนเองตามระบอกประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีจิตสาธารณะ และมีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม
(2) ด้านความรู้ ได้แก่ ความรู้ในหลักการทั่วไปของงานอาชีพ เฉพาะและการวิเคราะห์เบื้องต้น รวมทั้งมีความรู้ภาษาอังกฤษและเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถใช้ในการสื่อสารเบื้องต้นได้
(3) ด้านทักษะ ได้แก่ ทักษะการเลือกและประยุกต์ใช้วิธีการ เครื่องมือและวัสดุขั้นพื้นฐานในการปฏิบัติงาน ทักษะการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา และทักษะด้านสุขภาวะและความปลอดภัย
(4) ด้านความสามารถในการประยุกต์ใช้และความรับผิดชอบ ได้แก่ สามารถปฏิบัติงานตามแบบแผน ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลกงที่ไม่ซับซ้อน ให้คำแนะนำพื้นฐานที่ต้องใช้การตัดสินใจ วางแผนและแก้ไขปัญหาโดยไม่อยู่ภายใต้การควบคุมในบางเรื่อง ประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะทางวิชาชีพ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร ในการแก้ปัญหาและการปฏิบัติงานในบริบทใหม่ รวมทั้งรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น
ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (1) ด้านคุณธรรม ด้านคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ได้แก่ มีคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ เจตคติและกิจนิสัยที่ดี ภูมิใจและรักษาเอกลักษณ์ของชาติไทย เคารพกฎหมาย เคารพสิทธิของผู้อื่น มีความรับผิดขอบตามบทบาทหน้าที่ของตนเองตามระบอกประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีจิตสาธารณะ และมีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม
(2) ด้านความรู้ ได้แก่ ความรู้ทางทฤษฎีและเทคนิคเชิงลึกภายใต้ขอบเขตของงานอาชีพ รวมทั้งความรู้ภาษาอังกฤษ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารในระดับที่เชื่อมโยงกับการทำงาน
(3) ด้านทักษะได้แก่ ทักษะในการปรับใช้กระบวนการปฏิบัติงานให้เหมาะสม ทักษะด้านความปลอดภัยที่เชื่อมโยงกันในการทำงานที่หลากหลาย ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทักษะการคิด วิเคราะห์และการแก้ปัญหา ทักษะในการวางแผน การบริหารจัดการ การประสานงานและการประเมินผลในการปฏิบัติงานด้วยตนเอง
(4) ด้านความสามารถในการประยุกต์ใช้และความรับผิดชอบ ได้แก่ สามารถปฏิบัติงานตามแบบแผนและปรับตัวภายใต้ความเปลี่ยนแปลง สามารถแก้ปัญหา ที่ไม่คุ้นเคย หรือซับซ้อนและเป็นนามธรรมเป็นบางครั้ง

2. การจัดการศึกษา


           การจัดการศึกษาในหลักสูตรอาชีวศึกษาแต่ละระดับสามารถจัดแบบในระบบและระบบทวิภาคี โดยใช้ระบบทวิภาคี ซึ่งกำหนดให้ 1 ปีการศึกษา แบ่งเป็น 2 ภาคเรียน และใน 1 ภาคเรียน มีระยะเวลาจัดการศึกษารวมการวัดผล 18 สัปดาห์ โดย
           2.1 ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ใช้ระยะเวลาการศึกษา 6 ภาคเรียน กำหนดให้เรียนได้ไม่เกิน 12 ภาคเรียน สำหรับการลงทะเบียนเรียนแบบเต็มเวลา และไม่เกิน 16 ภาคเรียนสำหรับการลงทะเบียนแบบไม่เต็มเวลา
           2.2 ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ใช้ระยะเวลาการศึกษา 4 ภาคเรียน กำหนดให้เรียนได้ไม่เกิน 8 ภาคเรียน สำหรับการลงทะเบียนเรียนแบบเต็มเวลา และไม่เกิน 12 ภาคเรียนสำหรับการลงทะเบียนเรียนแบบไม่เต็มเวลา

การจัดการศึกษา การประเมินผลการเรียน และการสำเร็จการศึกษา ให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบันพิจารณาดำเนินการตามเกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาแต่ละระดับ ดังนี้

           1. การจัดการศึกษาร่วมกับสถานประกอบการ ให้จัดได้ใน 2 ลักษณะ คือการฝึกอาชีพในการศึกษาระบบทวิภาคี และการฝึกประสบการณ์สมรรถนะวิชาชีพ ในการศึกษาในระบบตามหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติที่คณะกรรมการการอาชีวศึกษากำหนด
           2. ให้จัดเตรียมความพร้อมในด้านอาคารสถานที่ ครุภัณฑ์ ครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เหมาะสม สอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอนในแต่ละลักษณะการผลิตและการพัฒนาผู้เรียน
           3. ให้กำหนดวิธีการพัฒนาคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษาและการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาคุณลักษณะให้ตรงตามศักยภาพของผู้เรียน และระดับคุณวุฒิของแต่ละประเภทวิชา และสาขาวิชา
           4. ให้จัดการเรียนการสอนที่เน้นการเรียนรู้สู่การปฏิบัติ โดยให้ผู้เรียนจัดทำโครงงานพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพที่สอดคล้องกับสาขาวิชาที่เรียน

มาตรฐานการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

           สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้มีประกาศคณะกรรมการอาชีวศึกษา เรื่องมาตรฐานการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี พ.ศ. 2563 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับคุณวุฒิอาชีวศึกษาแห่งชาติ และเกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาแต่ละระดับ เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษามีคุณภาพมาตรฐานเป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาวิชาชีพของสาขาวิชาและสาขางานที่เรียน โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. หลักการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี


           เกิดจากข้อตกลงระหว่างสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบันกับสถานประกอบการรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐในเรื่องการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนการวัดและการประเมินผลโดยผู้เรียนใช้เวลาส่วนหนึ่งในสถานศึกษาหรือสถาบันการอาชีวศึกษาและเรียนภาคปฏิบัติในสถานประกอบการรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐเพื่อมุ่งเน้นผลิตผู้สำเร็จการศึกษาในแต่ละระดับคุณวุฒิอาชีวศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจมีทักษะมีคุณธรรมจริยธรรมจรรยาบรรณวิชาชีพและกิจนิสัยที่เหมาะสมปฏิบัติงานได้จริงสามารถวางแผนสร้างและพัฒนางานพัฒนาตนเองและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขมีความก้าวหน้าทางวิชาการและวิชาชีพมีสมรรถนะที่สามารถนำไปปฏิบัติงานหรือประกอบอาชีพอิสระได้ตามมาตรฐานการศึกษาวิชาชีพและมาตรฐานสมรรถนะของอาชีพสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแทนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนการศึกษาแห่งชาติ

2. คุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษาอาชีวศึกษา


           ต้องครอบคลุมอย่างน้อย 4 ด้านคือด้านคุณธรรมจริยธรรมและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ด้านความรู้ด้านทักษะและด้านความสามารถในการประยุกต์ใช้และความรับผิดชอบตามเกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาตามเกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาในแต่ละระดับและตามมาตรฐานการศึกษาวิชาชีพของประเภทวิชาสาขาวิชาและสาขางานที่เรียนโดยผู้เรียนในอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีจะมีคุณลักษณะพิเศษคือสามารถปฏิบัติงานในสาขาวิชาที่ฝึกอาชีพได้ทันที

3. การจัดการศึกษาระบบทวิภาคี


           ต้องเป็นไปตามโครงสร้างหลักสูตรจำนวนหน่วยกิต รูปแบบและระยะเวลาที่กำหนดตามเกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาแต่ละระดับและแต่ละสาขาวิชาโดยกำหนดระยะเวลาของการฝึกอาชีพในสถานประกอบการของแต่ละหลักสูตรไม่น้อยกว่า 2 ภาคเรียนหรือ 1 ปีการศึกษา

4 . การจัดเตรียมความพร้อมสถานศึกษา


           การจัดเตรียมความพร้อมสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบันต้องจัดเตรียมความพร้อมในด้านผู้สอนบุคลากรและทรัพยากรสนับสนุนการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีดังนี้
           4.1 จัดให้มีครูผู้สอนวิชาชีพในสาขาวิชาที่จัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และต้องได้รับการพัฒนาวิชาชีพที่สอนไม่น้อยกว่า 80 ชั่วโมงต่อคนต่อปีการศึกษาจากสถานประกอบการที่ร่วมจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี
           4.2 จัดให้มีผู้มีประสบการณ์มีความชำนาญและมีความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพมาถ่ายทอดทักษะประสบการณ์และความรู้แก่ผู้เรียนและผู้สอนไม่น้อยกว่า 2 ครั้งครั้งละไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมงต่อสาขาวิชาต่อภาคเรียน
           4.3 จัดหรือร่วมกับสถานประกอบการในการจัดวัสดุครุภัณฑ์พื้นที่และอุปกรณ์การศึกษาสำหรับผู้เรียนให้เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอนและฝึกอาชีพ

5. การดำเนินการจัดการอาชีวะศึกษาระบบทวิภาคี


           5.1.1 ผู้บริหารและบุคลากรต้องส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
           5.1.2 จัดการเรียนในสาขาวิชาตรงความต้องการของสถานประกอบการ
           5.1.3 จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบันและสถานประกอบการ
           5.1.4 จัดทำสัญญาการฝึกอาชีพระหว่างผู้เรียนกับสถานประกอบการ
           5.1.5 จัดทำแผนการเรียนแผนการฝึกอาชีพและแผนการนิเทศตลอดหลักสูตรร่วมกับสถานประกอบการ
           5.1.6 จัดให้มีการประถมนิเทศก่อนการฝึกอาชีพและปัจฉิมนิเทศหลังเสร็จสิ้นการฝึกอาชีพ
           5.1.7 จัดเตรียมความพร้อมผู้เรียนก่อนการฝึกอาชีพ
           5.1.8 จัดให้มีครูนิเทศการฝึกอาชีพในสถานประกอบการ
           5.1.9 จัดให้มีการกำกับติดตามและประเมินผลการฝึกอาชีพร่วมกับสถานประกอบการ
           5.1.4 จัดให้มีการประชาสัมพันธ์การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีให้สถานประกอบการผู้เรียนและผู้ปกครองทราบ
           5.2.1 ด้านสถานประกอบการต้องให้ความร่วมมือดังนี้ผู้เรียนให้มีคุณธรรมจริยธรรมและคุณลักษณะที่พึงประสงค์
           5.2.2 จัดลักษณะงานที่ฝึกอาชีพให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ในสาขาวิชาที่ผู้เรียนกำลังศึกษา
           5.2.3 จะทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการกับสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบัน
           5.2.4 จัดทำสัญญาการฝึกอาชีพระหว่างผู้เรียนกับสถานประกอบการ
           5.2.5 จัดทำแผนการเรียนแผนการฝึกอาชีพและแผนการนิเทศตลอดหลักสูตรร่วมกับสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบัน
           5.2.6 จัดการประเมินการฝึกอาชีพร่วมกับสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบัน
           5.2.7 จัดให้มีครูฝึกในสถานประกอบการ
           5.2.8 จัดให้มีผู้ประสานงานและผู้ควบคุมการฝึกอาชีพของสถานประกอบการ
           5.2.9 จัดให้มีการประชาสัมพันธ์การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีให้ผู้เรียนผู้ปกครองและชุมชนทราบ
           5.2.10 จัดสวัสดิการหรือและหรือเบี้ยเลี้ยงที่เหมาะสมให้กับผู้เรียนตามข้อตกลง

6. คุณสมบัติและจำนวนครูฝึกในสถานประกอบการต้องเป็นไปตามเกณฑ์ดังนี้


           6.1 มีคุณสมบัติตามกฎหมายว่าด้วยการอาชีวศึกษา
           6.2 มีจำนวนตามเกณฑ์ที่กำหนดคือ
                     6.2.1 ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพและระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงต้องมีครูฝึก 1 คนต่อผู้เรียนไม่เกิน 10 คน
                     6.2.2 ระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการต้องมีครูฝึก 1 คนต่อผู้เรียนไม่เกิน 8 คน
           6.3 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นครูฝึกตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการอาชีวศึกษากำหนด

7. พื้นความรู้และคุณสมบัติของผู้เรียน


           ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ดังนี้
           7.1 มีพื้นความรู้และคุณสมบัติเป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดการศึกษาและการประเมินผลการเรียนตลอดตามหลักสูตร
           7.2 ได้รับการคัดเลือกจากสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบันหรือสถานประกอบการหรือโดยสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบันสถานประกอบร่วมกับสถานประกอบการ

8. การจัดการเรียนการสอนและการฝึกอาชีพของสถานประกอบการ


           ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ดังนี้
           8.1 สอดคล้องกับจุดประสงค์สาขาวิชาและมาตรฐานการศึกษาวิชาชีพของสาขาวิชาและสาขางาน
           8.2 ผู้เรียนต้องจัดทำ บันทึกฝึกอาชีพบันทึกคุณธรรมจริยธรรมและจิตอาสาแฟ้มสะสมผลงานตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษากำหนด

9. การนิเทศผู้เรียนในสถานประกอบการ


           9.1 การนิเทศในประเทศให้ดำเนินการดังนี้
           9.1.1 ให้ครูนิเทศไปนิเทศในสถานประกอบการอย่างน้อย 3 ครั้งต่อ 1 ภาคเรียน
           9.1.2 ให้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการนิเทศในประเทศอย่างสม่ำเสมอและให้รายงานผลต่อการนิเทศต่อผู้บริหารสถานศึกษาหรือสถาบันการอาชีวศึกษาทราบ
           9.1.3 ให้ใช้วิธีการนิเทศที่หลากหลาย
           9.2 การนิเทศในต่างประเทศ ให้ดำเนินการดังนี้
                     9.2.1 ให้ครูนิเทศไปนิเทศอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อภาคเรียน หรือ
                     9.2.2 ให้ภาคีเครือข่ายในต่างประเทศเป็นผู้นิเทศแทนในทุกภาคเรียน หรือ
                     9.2.3 ให้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการนิเทศต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ
                     9.2.4 การไปนิเทศในต่างประเทศต้องได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจตามระเบียนก่อนการเดินทาง
           9.3 การไปนิเทศการฝึกอาชีพให้เห็นไปตามแผนการฝึกอาชีพที่จัดทำขึ้น หากการฝึกอาชีพไม่ครบถ้วนสถานศึกษาหรือสถานบันการอาชีวศึกษาต้องจัดการฝึกอาชีพให้เป็นไปตามจุดประสงค์สาขาวิชา
           9.4 ครูนิเทศต้องผ่านการอบรมการนิเทศการฝึกอาชีพจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาหรือผู้ได้รับมอบหมาย
           9.5 ชั่วโมงนิเทศการฝึกอาชีพในสถานประกอบการให้คิดเป็นเวลาชั่วโมงสอนปกติหากชั่วโมงสอนเกินภาระงานที่กำหนด สามารถเบิกค่าสอนเกินภาระงานได้ตามระเบียบ
           9.6 การเดินทางไปนิเทศให้เบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการได้ตามระเบียบ

10. การวดัผลและประเมินผลการเรียนและการสำเร็จการศึกษา


           ให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดการศึกษาและการประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรแต่ละระดับ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ให้ดำเนินการอย่างเป็นระบบ และใช้วิธีการประเมินอย่างหลากหลายตามสภาพจริง สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนการสอนการฝึกอาชีพ โดยคำนึงถึงพัฒนาการของผู้เรียนและสมรรถนะที่ต้องการ

11. การประกันคุณภาพหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอน


           ให้ทุกหลักสูตรกำหนดระบบประกันคุณภาพไว้ให้ชัดเจนตามเกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาแต่ละระดับ ดังนี้
           11.1 กำหนดสมรรถนะรายวิชา โดยปรับปรุงรายวิชาเดิมหรือพัฒนารายวิชาใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ
           11.2 การประกันคุณภาพผู้สำเร็จการศึกษา มีคุณวุฒิตามเกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาแต่ละระดับ และมาตรฐานการศึกษาวิชาชีพของสาขาวิชาและสาขางาน มีทักษะและความสามารถในการกำกับดูแล มีความเชี่ยวชาญ ในการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงาน สถานประกอบการมีความพึงพอใจในศักยภาพผู้สำเร็จการศึกษา
           11.3 มีใบรับรองการฝึกอาชีพจากสถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่นักเรียน หรือนักศึกษาได้ไปฝึกอาชีพด้วย

แนวทางการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

การเริ่มต้นจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี


           ต้องเริ่มต้นจากความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบันกับ สถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ

ขอบเขตความร่วมมือในการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี


           ครอบคลุมถึงการจัดหลักสูตร การวางแผนและเตรียมการ การจัดแผนการเรียน การจัดทำแผนการฝึกอาชีพ และแผนการนิเทศ จัดการเรียน การฝึกอาชีพและการฝึกประสบการณ์ สมรรถนะวิชาชีพ การวัดและการประเมินผล รวมทั้งการจัดทำเอกสาร รับรองการฝึกอาชีพ

องค์ประกอบในการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี


           - มีบันทึกความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สถานศึกษาอาชีวศึกษา หรือสถาบัน กับสถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ
           - มีสัญญาการฝึกอาชีพระหว่างสถานประกอบการกับผู้เรียน
           - มีแผนการฝึกอาชีพในสถานประกอบการ ตลอดระยะเวลาการฝึกอาชีพที่กำหนดตามโครงสร้างหลักสูตร และแผนการเรียนของสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบัน - มีการประเมินมาตรฐานการฝึกอาชีพตามข้อตกลง
           และตามแผนการฝึกอาชีพที่จัดทำร่วมกันระหว่างสถานประกอบการ และสถานศึกษาหรือสถาบัน ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษากำหนด - มีใบรับรองการฝึกอาชีพจากสถานประกอบการ
           - มีวุฒิบัตรการศึกษาระบบทวิภาคีลงนามร่วมกัน 2 ฝ่าย คือสถานประกอบการ และสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบัน

บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี


           - สถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบัน ได้แก่ หัวหน้างานอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี หัวหน้างานความร่วมมือ ครูที่ปรึกษา ครูนิเทศ ครูผู้สอน (จำนวนครูวิชาชีพในแผนกไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และต้องได้รับการพัฒนาจากสถานประกอบการไม่น้อยกว่า 80 ชม. ต่อคนต่อปีการศึกษา
           - สถานประกอบการ ได้แก่ ผู้ควบคุมการฝึก ครูฝึก (จำนวนครูฝึก: ผู้เรียนระดับปวช. 1:10 คน ระดับปวส. 1:8 คน)

ผู้เรียนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี


           - มีพื้นความรู้และคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนดของระเบียบกระทรวงศึกษาว่าด้วยการจัดการศึกษาและการประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรที่เข้าเรียน
           - ผ่านการสอบคัดเลือกหรือคัดเลือกตามคุณสมบัติและตามจำนวนที่กำหนด โดยสถานประกอบการ สถานศึกษา หรือดำเนินการ่วมกัน
           - ต้องทำสัญญาการฝึกอาชีพกับสถานประกอบการ
           - ต้องเข้ารับการปฐมนิเทศก่อนการฝึกอาชีพและร่วมปัจฉิมนิเทศหลังเสร็จสิ้นการฝึกอาชีพ
           - ต้องเข้ารับการฝึกอาชีพตามแผนและระยะเวลา พร้อมจัดทำบันทึกการฝึกอาชีพ คุณธรรม ฯลฯ ตามแบบที่กำหนด

หลักสูตรที่ใช้ในการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี


           สามารถดำเนินการได้ในทุกระดับหลักสูตร ประเภทวิชา สาขาวิชาและสาขางาน ที่ตรงกับลักษณะงานของ สถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่ร่วมจัดการศึกษาระบบทวิภาคี

กลุ่มวิชาที่นำไปจัดการศึกษาระบบทวิภาคี


           - ให้ใช้รายวิชาทวิภาคีในหมวดวิชาสมรรถนะวิชาชีพ กลุ่มสมรรถนะวิชาชีพเลือก (สาขางาน) ที่กำหนดไว้ในหลักสูตร (ปวช.ไม่น้อยกว่า 18 หน่วยกิต และปวส. ไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต)
           - สถานศึกษาและสถานประกอบการร่วมกันจัดทำรายละเอียดของแต่ละรายวิชาให้สอดคล้องกับลักษณะงาน เหมาะสมกับระดับของหลักสูตร สอดคล้องกับวัตถุประสงค์สาขาวิชามาตรฐานการศึกษาวิชาชีพของสาขาวิชาและสาขางาน พร้อมทั้งรายงาน สอศ.ทราบ
           - สถานศึกษาและสถานประกอบการสามารถพิจารณานำรายวิชาอื่นในหมวดวิชาสมรรถนะแกนกลางหมวดวิชาสมรรถนะวิชาชีพ หมวดวิชาเลือกเสรี รวมทั้งกิจกรรมเสริมหลักสูตร ตรงกับลักษณะงานไปเรียนและฝึกในสถานประกอบการในภาคเรียนที่จัดฝึกอาชีพในระบบทวิภาคีด้วยได้
           - สถานศึกษาและสถานประกอบการร่วมกันทำแผนการฝึกอาชีพรายวิชาที่นำไปเรียนและฝึกในสถานประกอบการ

ลักษณะการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี


           - จัดให้ผู้เรียนใช้เวลาเรียนและฝึกปฏิบัติทักษะพื้นฐานส่วนหนึ่งในสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบัน และใช้เวลาฝึกปฏิบัติงานหรือฝึกอาชีพในสถานประกอบการตามแผนการเรียนที่จัดทำร่วมกัน
           - จัดแผนการเรียนให้ผู้เรียนได้รับการฝึกอาชีพในสถานประกอบการของแต่ละหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 2 ภาคเรียน หรือ 1 ปีการศึกษา
           - จัดให้มีครูนิเทศไปนิเทศในสถานประกอบการ (ในประเทศอย่างน้อย 3 ครั้งต่อภาคเรียน ต่างประเทศอย่างน้อย 1 ครั้งต่อภาคเรียน รวมทั้งให้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและวิธีการนิเทศที่หลากหลายอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งรายงานผู้บริหารทราบ)
           - สถานศึกษาและสถานประกอบการร่วมกันประเมินผลและให้ระดับผลการเรียนรายวิชาที่นำไปฝึกอาชีพของผู้เรียนอย่างเป็นระบบตามสภาพจริง และใช้วิธีการที่หลากหลาย ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดการศึกษาและประเมินผลการเรียนตามหลักสูตร

รูปแบบการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

...


           ในปัจจุบันการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาครอบคลุมความร่วมมือกับสถานประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยแบ่งเป็น 5 model ดังนี้

ภายในประเทศ

Model A


           การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีเต็มรูปแบบ (ร้อยเปอร์เซ็นต์) ในพื้นที่ คือมีสถานประกอบการในพื้นที่ตั้งสถานศึกษาผู้เรียนทุกคนทุกสาขาวิชา ได้เข้าฝึกอาชีพใน สถานประกอบการ

Model B


           การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีเต็มรูปแบบ (ร้อยเปอร์เซ็นต์) นอกพื้นที่ คือการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ที่ไม่มีสถานประกอบการในพื้นที่ตั้งสถานศึกษา ผู้เรียนทุกคนทุกสาขาวิชาได้เข้าฝึกอาชีพในสถานประกอบการโดยจะต้องมีการจัดที่พักใกล้กับสถานประกอบการที่ไปฝึกอาชีพให้แก่ผู้เรียน และมีครูควบคุมดูแล

Model C


           การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีบางสาขาวิชา

Model D


           การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีให้แก่พนักงานของสถานประกอบการ

ต่างประเทศ

Model E


           การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีกับสถานประกอบการต่างประเทศ